Interview about picture book

บทสัมภาษณ์ เพจ มัมเรซิ่น (Mumraisin) : Bangkok Post
วิธีคิด เกี่ยวกับการทำหนังสือเด็กของเรา
อ่านต้นฉบับได้ที่นี่ค่ะ
วิธีคิดและทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก

_____________________________________________________________________

คุยกับ “พี่อ้อย-พี่บอมบ์” คู่สามี-ภรรยา ผู้ปรุงความสุขใส่ลงในนิทานของเด็กๆ





พี่อ้อย-วชิราวรรณ ทับเสือ และพี่บอมบ์-กฤษณะ กาญจนาภา คู่สามี-ภรรยา 
เจ้าของผลงานหนังสือนิทานที่หลายๆ คนคุ้นตา อย่างเช่นเรื่อง ลูกเจี๊ยบ 5 ตัว, 
สี่สหายผจญภัย, อาบน้ำด้วยกันนะ, ขึ้นอย่างไรนะ, 
ลงอย่างไรนะ, ขนมของแม่ ฯลฯ ด้วยเนื้อเรื่องและลายเส้นที่สนุก อบอุ่น และสบายตา 
ทำให้กลายเป็นหนังสือนิทานประจำบ้านที่เด็กๆ หลงรักได้ไม่ยาก 
มัมเรซิ่นจึงขอบุกไปพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ
และเบื้องหลังการสร้างสรรค์นิทานของพี่อ้อย-พี่บอมบ์กันค่ะ



ก่อนจะมาเป็นนักทำนิทาน
พี่อ้อย-พี่บอมบ์ เรียนจบมาด้วยกันจากภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำงาน พี่อ้อยไปทำบริษัทโฆษณา
อยู่นานหลายปี ส่วนพี่บอมบ์เป็นนักวาดภาพประกอบ จนอยู่มาวันหนึ่งก็จับเข่าคุยกัน
ว่าน่าจะออกมาทำอะไรที่เป็นของตัวเอง และหนังสือนิทาน ก็เป็นสิ่งแรกที่คิดถึง
เพราะลึกๆ นิทานคือสิ่งที่พี่อ้อย-พี่บอมบ์ชอบมาโดยตลอด

พี่บอมบ์: ตอนนั้นอ้อยเขาเบื่อบริษัทแล้ว ทำมาเยอะหลายที่ พอโตขึ้นก็เริ่มคิดว่า
เราน่าจะมาทำอะไรที่เป็นของเราเองดีกว่ามั้ย

พี่อ้อย: ช่วงที่เรียน พี่ทำธีสิสเกี่ยวกับนิทาน เพราะชอบวาดรูปและอ่านนิทานกับเด็กอยู่แล้ว
พี่บอมบ์: คือเขาไม่รู้ตัวนะ ตอนแรกที่ออกจากงานมายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี
พี่ก็เลยถามว่า สมัยเรียนทำนิทานไม่ใช่เหรอ

พี่อ้อย: เคยทำนิทานตอนเรียนจบใหม่ๆ เรื่อง เค้าโมงหลบมุม แล้วได้รางวัลจาก
คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2540 พอได้รางวัลเราก็เก็บความดีใจ
ไว้ไม่ได้ทำอะไรต่อ พอออกจากงานปุ๊บพี่บอมบ์ก็บอกว่า ก็ทำนิทานสิ มาทำด้วยกัน
แล้วเราเคยทำได้ดีและคิดว่ามันง่าย ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีความรู้อะไรเลย แค่วาดรูปเป็น
ก็เลยตัดสินใจจับมือกันทำนิทาน แล้วเอาไปเสนอสำนักพิมพ์

พี่บอมบ์: ตอนนั้นทำเสร็จแล้วก็ไปเจอพี่ๆ ที่อยู่ในวงการหนังสือ เขาก็แนะนำว่า
ถ้าจะทำหนังสือเด็กต้องไปหาบอกอหนังสือเด็กที่เก่งที่สุดในประเทศ
ซึ่งในขณะนั้นก็คือ พี่แต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก
ผู้บุกเบิกวงการหนังสือเด็กยุคแรกๆ ของบ้านเรา เราก็หอบต้นฉบับไปหาพี่แต้วเลย

พี่อ้อย: ภูมิใจมาก กะว่าต้องได้แน่นอน พี่แต้วเห็นก็ชอบในฝีมือนะ แต่พี่แต้ว
เก็บเล่มนั้นเข้ากรุไปเลย (ฮา) คือมันยังใช้ไม่ได้ แต่โชคดีว่าตอนนั้นพี่แต้วกำลัง
ทำโปรเจ็คหนังสือชุดหนูอยากรู้ แล้วสไตล์งานของเราเข้ากับที่พี่เขาอยากได้พอดี

พี่บอมบ์: เราเข้ามาในจังหวะที่พอดี แล้วงานเราก็ดูเป็นไปได้ พี่แต้วก็เลยสอนทำหนังสือ
เอาหนังสือของครูชีวัน วิสาสะ (เจ้าของผลงาน อีเล้งเค้งโค้ง) มาให้ดู


หนังสือเด็ก ไม่ใช่แค่การวาดภาพ

พี่อ้อย:   พี่แต้วคือคนที่จุดประกายว่า หนังสือเด็กมันมีอะไรมากกว่าแค่วาดภาพ มันมีการสื่อสาร
ที่เรียกว่า ภาษาภาพ เราก็เรียนรู้กับพี่เขาไป ทำแล้วแก้ๆ อยู่อย่างนี้

พี่บอมบ์: ทำทีละภาพเลย เสร็จ 1 ภาพปุ๊บ ก็นัดมาดู มาคุยกันเลย

พี่อ้อย:   พี่แต้วบอกว่า อย่าเลิกนะ อย่าท้อนะ เพราะมันยากมาก แก้ทุกหน้าเลย แล้วเราวาดด้วย
สีน้ำมันแก้ไม่ได้ ต้องวาดใหม่

พี่บอมบ์: สุดท้ายโปรเจ็คนี้ก็สำเร็จออกมา 3 เล่ม คือ ลูกเจี๊ยบ 5 ตัว, อาบน้ำด้วยกันนะ
และมากินข้าวด้วยกันนะ แล้วก็ได้รางวัลไป 2 เล่ม ทุกเล่มคือทยอยทำเป็นปีๆ ไป
ระหว่างนั้นพี่แต้วก็ให้งานมาเรื่อยๆ

พี่บอมบ์:  สมัยจบใหม่ๆ พี่ก็วาดรูปอย่างเดียว ไม่มีความรู้อะไรเลย ก็คิดว่าทำหนังสือเด็กมันง่าย
พอมาทำกับพี่แต้วเราเลยได้เรียนรู้มากขึ้น

พี่อ้อย:   พอเราทำแล้ว หนังสือได้รางวัลด้วย มันก็เลยทำให้เรามั่นใจในเส้นทางนี้มากขึ้น



ความยากของการวาดภาพประกอบสำหรับเด็ก

พี่บอมบ์:  มันยากตรงกระบวนการคิด เราต้องคิดเยอะกว่า ต้องระมัดระวังเรื่องที่จะสื่อสารกับเด็ก
ทั้งเนื้อเรื่องและภาพ ว่าจะไม่เกิดโทษหรือพิษภัยใด ที่จะทำให้เขาติดภาพที่ไม่ดี เช่น
พี่จะไม่เอาสัตว์ที่ดุร้ายในโลกจริงไปใส่ให้เป็นตัวร้ายในนิทาน หากใส่ไปก็ต้องได้รับบทเรียน
บางอย่าง เป็นต้น

พี่อ้อย:   หากเราสร้างปมปัญหาในเรื่อง หรือความรู้สึกแง่ลบต่างๆ เราก็ต้องบอกให้เด็กๆ เข้าใจ
ด้วยว่าเพราะอะไร ความยากของการทำหนังสือของพี่คือ หนังสือที่พี่ทำจะไม่ใช่หนังสือสอน
แต่จะชวนเด็กๆ มาเล่นสนุกด้วยกัน หนังสือที่ใช้สอนมันจะเป็นอีกแบบที่ควรให้ครูหรือคนที่ถนัดทำ
 แต่ของเราจะเป็นแนวชวนเด็กสนุก แล้วค่อยแทรกอะไรเข้าไปในความสุขนั้น ให้เขาสามารถ
นำไปเลียนแบบได้

พี่บอมบ์:  เพราะพอสนุกเขาก็อยากทำตาม แต่ถ้าไปสอนตรงๆ เขาจะปฏิเสธเลย

พี่อ้อย:   เราจะทำหนังสือเหมือนเป็นเพื่อนของเด็กๆ จะนั่งลงอยู่ข้างๆ เท่าๆ กัน
แล้วนั่งคุยกัน และเล่นด้วยกัน เรียกว่าเป็นสไตล์พี่อ้อย-พี่บอมบ์เลย


กว่าจะเป็นนิทานหนึ่งเล่ม

พี่บอมบ์:  สองคนจะแบ่งงานกันทำตามความถนัด พี่อ้อยจะถนัดวาดภาพที่มันน่ารักสำหรับเด็กๆ
ส่วนพี่ก็จะถนัดเล่าเรื่องและการออกแบบ พี่อ้อยจะช่วยคิดคำ แต่พี่จะคิดภาพ เราก็ช่วยกันทำ
พอพี่สเก็ตช์เสร็จ พี่อ้อยก็เอาไปวาดต่อ

พี่อ้อย:   พี่จะทำให้ภาพนุ่มนวลขึ้น พี่บอมบ์เขาจะสไตล์แมนๆ ฮาร์ดคอร์หน่อย
พี่ก็จะเอามาปรับเส้น ลงสี แล้วมาช่วยดูโทนสีว่าเป็นยังไง คุยกันจนมาเจอตรงกลาง
งานก็เลยออกมาซอฟต์และอ่านได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง สุดท้ายไม่ว่าเทคนิคการวาดหรือ
การใช้สีจะเป็นอย่างไร การสื่อสารสำคัญที่สุด ถ้าเราจะสื่อสารให้เด็กรู้เรื่องช้าง เ
ราก็ต้องวาดช้างให้รู้เรื่อง ถ้าจะสื่อสารเรื่องสี ก็อาจจะวาดช้างเป็นการ์ตูนแต่มีสี
คือมันอยู่ที่การสื่อสารว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ เราก็ทำให้มันถูกต้องตามนั้น

พี่บอมบ์:   ถูกต้องตามสิ่งที่เราจะบอก เช่น อยากให้เรียนรู้เรื่องสัตว์ สัตว์ก็ต้องเหมือนจริง
ถ้าไม่เรียนรู้เรื่องสัตว์ก็เติมจินตนาการได้ สำคัญคือต้องดูว่าเราจะสื่ออะไรกับเด็ก
ไม่ใช่ว่าเราจะสื่อว่าสัตว์นี้เป็นสัตว์อะไร แต่เขียนเป็นจินตนาการมันก็ผิด เด็กก็จะจำผิด


เด็กๆ ได้อะไรจากการอ่านภาพในนิทาน

พี่บอมบ์:  อันดับแรกคือจินตนาการ การเชื่อมโยงระหว่างสมองกับสายตา เมื่อมันไม่มีคำมากำกับ
พอเด็กดูภาพ เขาก็จะคิดว่ามันคืออะไร เขาจะคิดผิดถูกไม่เป็นไร ขอให้ได้คิด
กระบวนการคิดมันจะพัฒนาออกไปเรื่อยๆ วันนี้เขาดูอาจจะเห็นเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจจะเป็นอย่างอื่น
ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดจินตนาการมากกว่าแค่การท่องหรือการอ่าน การอ่านตามตัวอักษรจะบังคับ
ให้ไม่ต้องคิด อ่านได้ก็จบ ภาพก็ไม่ต้องดู แล้วยิ่งคำอธิบายภาพยิ่งไปกันใหญ่เลย
ท่องอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดจินตนาการ ตัวหนังสือถ้ามันบรรยายเยอะก็จะไม่มี
ประโยชน์อะไรกับเด็กเลย เด็กไม่ได้ใช้ ได้แค่หัดอ่านเฉยๆ ซึ่งอ่านหนังสือเรียนก็ได้
แต่หนังสือภาพจะช่วยเขาเชื่อมโยงจินตนาการ สมองกับสายตา

พี่อ้อย:  และต้องเป็นหนังสือภาพชั้นดี คือทำยังไงให้เกิดการสื่อสารระหว่างคำกับภาพ
ให้ภาพมันเล่าเรื่องด้วยตัวของมันเอง ให้เด็กได้คิดและเชื่อมโยงกัน และเขาก็ได้ความสุข
ที่เขาได้อ่านกับพ่อแม่ด้วย

พี่บอมบ์:  เขาไม่ถูกบังคับด้วยคำสำคัญมาก ดูแต่รูป เวลาเด็กเขาหยิบอะไรมาเล่น
เขาจะพูดของเขาไปได้เรื่อยๆ ไม่ถูกบีบด้วยคำ ไม่มีผิด เหมือนฝรั่งที่เขาให้เด็กได้คิด
ไม่ได้ให้สอนให้ท่อง เขาจะไม่มีคำถามว่าปี พ.ศ. อะไร คนเท่าไร แต่เขาจะถามว่า
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร


พ่อแม่ได้อะไรจากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง

พี่บอมบ์:   พ่อแม่ได้อะไรมากมายจนนึกไม่ถึงเลย  จริงๆ กิจกรรมการอ่านหนังสือ เด็กๆ ชอบมาก
เท่าที่พี่ได้คุยกับเด็กๆ ถึงแม้เขาจะโตมากแล้ว เขายังบอกว่า ช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุดคือ
ช่วงที่พ่อแม่มานั่งอ่านหนังสือให้เขาฟัง แต่พ่อแม่เลิกอ่านให้ฟังตอนเขาโต ซึ่งเขาบอกว่า
เขายังอยากให้มาอ่านให้ฟังอยู่

พี่อ้อย:   ทำไมถึงไม่อ่านหนังสือให้หนูฟังอีกแล้ว เราก็อธิบายไปว่า ก็พ่อแม่คิดว่าหนูโตแล้ว
จริงๆ เขายังโหยหาช่วงเวลานั้นอยู่ มันมีความสุข

พี่บอมบ์:   จริงๆ มันไม่ได้เป็นแค่หนังสือภาพนะ แต่คือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมานั่งด้วยกัน
ทุกคนให้ความสนใจเขา มานั่งอ่านหนังสือแล้วยิ้มมีความสุขด้วยกัน ซึ่งก็คือคนมีความสุข
ที่นั่งอยู่ด้วยกัน โดยใช้หนังสือภาพเป็นสื่อ ช่วงเวลาเหล่านี้มันสำคัญนะ เดี๋ยวพอเขาโตแล้ว
คุณจะนึกถึงตอนนั้นแน่นอน

พี่อ้อย:   แล้วมันก็หล่อหลอมตัวเขาเองโดยที่พ่อแม่ก็คาดไม่ถึงเลย

พี่บอมบ์:   เขาจะผูกกับพ่อแม่แน่นมาก จะจำช่วงเวลานี้ได้ พ่อแม่ก็จำได้ ลูกก็จำได้
มันเกิดเป็นความผูกพัน ถ้าทุกคนเลี้ยงลูกโดยแค่บังคับเรียน ให้ความรู้ ให้เงิน กินข้าว
 ความผูกพันมันจะน้อย ความสนิทกันมันน้อย บางทีพ่อแม่ที่คุยไม่เก่ง หนังสือมันช่วยได้นะ
ไม่รู้จะคุยยังไงก็อ่านนิทานให้ฟัง นั่งดูด้วยกัน คุยกัน มันเป็นตัวช่วยที่ดีเลย


หนังสือเด็กให้อะไรกับคนทำหนังสือ

พี่อ้อย:   หนังสือเด็กที่พี่อ้อยทำ พี่อ้อยไม่ได้ทำให้เด็กฝ่ายเดียว แต่เด็กก็ให้อะไร
พี่กลับมาเหมือนกัน เขาสอนเราหลายอย่าง สอนให้รู้ว่าทำหนังสือให้เขารู้เรื่องต้องทำยังไง
แล้วเขาได้อะไร แล้วมันก็กลับมาที่เรา

พี่บอมบ์:   เขาสะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีมุมมองในชีวิตยังไง เขาคิดกับพ่อแม่ยังไง
เขาคิดกับผู้ใหญ่ยังไง พอเขาบอกเรา เราก็เข้าใจว่า อ๋อ เพราะผู้ใหญ่ทำอย่างนี้
มันถึงได้มีปัญหาหรือเกิดช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งถ้าเรากำจัดตรงนี้ไปได้ คุณกับเด็กจะสนิทกันมาก

พี่อ้อย:   เราก็เลยเอาข้อที่เด็กๆ สอนเรา มาถ่ายทอดเพื่อสื่อสารไปถึงพ่อแม่ผ่านหนังสือของเราค่ะ


พราะช่วงเวลาของ “เด็ก” นั้นสั้นนิดเดียว

พี่บอมบ์:   เด็กๆ อยากอ่านอยากดูอะไรก็ให้เขาทำ เพราะช่วงเด็กนั้นสั้นนิดเดียวเอง
อย่าเพิ่งไปบังคับให้เขาเรียนอะไรมากมายเลย คือพอโตขึ้นค่อยเรียนก็ได้ แต่ตอนเด็ก
เขามีความสนใจในหนังสือภาพ เขาสนใจหยิบจับเล่มไหนก็ให้เขาอ่าน แล้วมันจะเป็น
การส่งเสริมการอ่านไปในตัว เพราะเขาไม่ได้ถูกห้าม เช่น ลูกชอบหนังสือเล่มหนึ่ง
แม่มาหยิบดูแล้วบอกว่าตัวหนังสือน้อยไม่คุ้ม พอเราไปห้ามเขา เขาก็จะเกิดการผิดหวัง
เขาก็เริ่มไม่กล้าหยิบจับอะไร เลือกอะไร เคยเจอเด็กบางคนไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย
เพราะแม่คอยชี้ตลอด พอพี่บอกเลือกอะไรก็ได้ เขาก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่เคยได้เลือกมาก่อน
พอได้เลือกแล้วตื่นเต้นมาก มันเหมือนกับเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเขาเลยนะ
ก็เลยคิดว่าพ่อแม่ควรปล่อยให้เขาได้มีโอกาสเลือก ให้อิสระเขาในวัยเด็ก ให้เขาได้เล่น
ได้อ่าน ได้หยิบจับ แล้วเขาจะมีจินตนาการและมีความสุข เพราะช่วงเด็กมันสั้นมากจริงๆ

พี่อ้อย:   ใช่ค่ะ 10 ขวบเขาก็ไปจากเราแล้ว

พี่บอมบ์:   สมัยนี้เด็กที่ขี่จักรยานแถวบ้านหายไปหมด เพราะต้องไปเรียนพิเศษ
จะเข้าอนุบาลยังต้องเรียนพิเศษ พี่เคยเจอ ถึงขนาดร้องไห้เลย เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียน
มันเหนื่อยเกินไป ส่งเสริมเขาอ่านหนังสือภาพ มีจินตนาการ เดี๋ยวตอนโตต้องไป
ทำงานมันเหนื่อย ขอให้ใช้วัยเด็กให้เต็มที่จะดีกว่า

พี่อ้อย:   วัยเด็กต้องเล่น

พี่บอมบ์:   จริงๆ ตัวพ่อพี่เองก็เป็นตัวอย่าง คือเขาถูกพ่อแม่บังคับเรียน จนถึงตอนนี้
อายุตั้ง 80 กว่าแล้ว เขาก็ยังบ่นว่าเขาถูกบังคับเรียน เขาไม่อยากเรียนหมอ
อยากเรียนวิศวะ ที่บ้านไม่ยอม ก็ฝังใจ คนในหมู่บ้านแถวนี้ไม่มีใครรู้สึกว่าเขาเป็นหมอ
นึกว่าเป็นช่าง พอเวลาว่างเขาก็ตอกนู่น เจาะนี่ ออกแบบทำอะไร พอเลิกงาน
ไม่เคยทำอะไรที่เกี่ยวกับหมอเลย ทำคลินิคก็ไม่ยอมทำ

พี่อ้อย:   ฉะนั้น ฝากคุณพ่อคุณแม่ว่า อย่าบังคับกันเลย

พี่บอมบ์:   ครับ มันมีผลยาวมากจริงๆ

พี่อ้อย:   ทำให้ไม่มีความสุขทุกคนเลย ทั้งคุณพ่อคุณแม่และตัวเด็กด้วยค่ะ


ดังนั้น เรามาปรุงความสุขให้เด็กๆ ผ่านการอ่านนิทานกันเถอะค่ะ เพราะความสุขในวัยเด็กคือฐานรากสำคัญต่อการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขในอนาคต


Photo: ฐานิธ จันทร์สว่าง

ขอบคุณ บก ข้าวตู ชัชนันท์ ประสพวงศ์ น้องออฟ และทีมงาน Mumraisin มากค่ะ