ABOUT PICTURE BOOK

ขอขอบคุณ
พี่แต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช  บรรณาธิการหนังสือเด็กอิสระที่น่ารัก
ที่ช่วยดูแล แนะนำ สั่งสอน แก้ไข ปรับปรุง วิธีการทำหนังสือนิทานเด็ก
ตั้งแต่เริ่มต้น จนสำเร็จเป็นรูปเล่มอย่างสวยงามตลอดมา 

ปัจจุบัน พี่แต้ว เป็นบก หนังสือเด็กอิสระ ที่มีผลงานนิทานกว่าร้อยเรื่อง 
และยังเป็นคนที่สอนให้เราปลูกต้นไม้แห่งความเชื่อนั้นอีกด้วย 

ครูชีวัน วิสาสะ ครูทำเป็นตัวอย่างให้เราเห็น  คอยแนะนำ ให้ความรู้ 
วิธีการทำหนังสือเพื่อเด็กอย่างไร ต้องเรียนรู้และดูอะไรบ้าง และคอยให้โอกาส 
ภายใต้หน้าหนวดที่ดูเหมือนดุของครู ครูใจดีมากๆ 
ครูมีคำชี้แนะดีๆ ทุกครั้งที่พบกันเสมอมาค่ะ
............................................................................................................

หนังสือสำหรับเด็กเล็ก
เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องง่ายๆ มักเป็นเรื่องใกล้ตัว มีภาพชัดเจน เหมือนจริง ไม่มีฉากหลังรกรุงรัง 
ใช้คำน้อยสื่อความหมายชัดเจน เหมาะสำหรับเด็กเล็กแรกเกิด จนถึง 1 ขวบ หรือมากกว่าเล็กน้อย
มีตัวเองคนเดียวไม่แบ่งใคร มีเรื่องราวรอบๆตัว รอบๆบ้าน

หนังสือนิทานภาพ
มีเนื้อเรื่องและภาพประกอบเพื่อเล่าเรื่องด้วย มีตัวละคร มีเหตุการณ์ต่างๆ มีอารมณ์ ความรู้สึก
เหมาะสำหรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไป จนถึงเด็กโต ขึ้นอยู่กับเรื่องราวและเนื้อหา

หนังสือภาพสำหรับเด็ก
เป็นหนังสือที่ต้องมีคนอ่านให้เด็กฟัง ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจผิด
คิดว่า รอให้เด็กโตก่อน อ่านหนังสือออกก่อน แล้วค่อยซื้อหนังสือให้อ่าน

ซึ่งที่ดีที่สุดแล้ว ควรให้เด็กได้รู้จักหนังสือตั้งแต่พวกเขายังไม่รู้ว่าหนังสือคืออะไร
เมื่อมีคนอ่านให้ฟังอย่างสนุก พวกเขาได้รู้จักโลก ได้รับรู้ถึงความสุขอันเกิดจากการฟัง
และเริ่มเรียนรู้ว่า หนังสือมีไว้สำหรับอ่าน เมื่อถึงเวลาอ่านเองได้แล้ว
พวกเขาจะอ่านทันทีโดยไม่ต้องมีคนมาบังคับ

หนังสือภาพสำหรับเด็ก คือหนังสือที่มีไว้ให้ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่านเอง
การเลือกหนังสือสำหรับเด็ก ขอให้มุ่งหวังเพื่ออ่านให้เด็กฟังอย่างมีความสุขเป็นอันดับแรก

พี่แต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช
......................................................................................................
หน้าที่บรรณาธิการก็คล้ายกับงานปิดทองหลังพระ  หนังสือนิทานส่วนใหญ่
เราก็จะเห็นเพียงผู้แต่ง ผู้วาด จริงแล้วบรรณาธิการหนังสือเด็กมีความสำคัญมากที่สุด 
เพราะต้องดูองค์ประกอบของเนื้อหาทั้งหมด ต้องมีความรู้เกี่ยวกับหนังสือเด็ก
ในมุมกว้างอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดันให้หนังสือออกเท่านั้น

หนังสือนิทานเด็กจะดีได้ต้องมีบรรณาธิการที่มีความรู้ความสามารถ
และเข้าใจธรรมชาติของหนังสือเด็ก
.............................................................................
บทสัมภาษณ์ที่น่าศึกษาของ พี่แต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช




ผ ล ข อ ง ค ว า ม เ ชื่ อ

18 ปีที่แล้วพี่แต้ว ระพีพรรณลงแรงปลูกต้นไม้แห่งความเชื่อของเธอ ด้วยจอบเสียมที่เป็นหนังสือนิทาน และวันนี้เราจะพาคุณไปชื่นชมดอกผลที่ออกจากต้นถึงในสวนเธอทีเดียว เริ่มได้กลิ่นอันหอมหวานของผลมันไหมเล่า!

จากนิสิตรามคำแหง มาทำงานวารสารเด็ก และมาเป็นทีมงานยุคบุกเบิกของ “แพรวเพื่อนเด็ก” เพราะประทับใจกับบทสัมภาษณ์ของคุณ
ชู เกียรติ อุทกะพันธุ์ และความประทับใจนั้นยังต่อเนื่องมาอีกหลายปี เมื่อผู้บริหารท่านนี้ยินดีให้ระพีพรรณกับทีมใช้เวลาสร้างองค์ความรู้เกี่ยว กับหนังสือเด็ก ซึ่งไม่เคยมีในประเทศนี้ โดยไม่มีโพรดักต์ออกไปหนึ่งปีเต็มๆ และการยืนหยัดของแพรวเพื่อนเด็กในช่วงที่ขาดทุนต่อเนื่องอีกหลายปี

ก็ไม่แปลกที่จะขาดทุน เพราะเป็นหนังสือเด็กที่มีภาพอยู่ไม่กี่ภาพ ตัวหนังสือไม่กี่ตัว แต่กลับขายร้อยกว่าบาท ยิ่งเมื่อ 18 ปีที่แล้วที่สังคมไทยยังมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อย ยังมองมันเป็นแค่กระดาษอยู่ คงมีคนไม่กี่คนที่มองเห็นอะไรบางอย่างบนกระดาษเหล่านั้น ซึ่ง "รพีพรรณ พัฒนาเวช" เป็น หนึ่งในนั้น เธอใช้หนังสือนิทานต่างจอบเสียม ขุดดินเพื่อปลูกต้นไม้แห่งความเชื่อของเธอ ความเชื่อที่ว่า...หนังสือนิทานไม่ใช่แค่กระดาษ ตอนนี้ต้นไม้ออกดอกออกผล เธอชิมผลของมันแล้วได้เรียนรู้อะไร...ไปฟังเธอกัน

ถ้าไม่ใช่กระดาษคุณมองมันเป็นอะไร
แต้วมองว่ามันเป็นเครื่องมือในการร้อยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนษย์ ด้วยกัน เพราะการอ่านหนังสือเล่มนึงเนี่ยอย่างน้อยที่สุดมันได้สัมผัส มันได้โอบกอด ได้ชี้ชวน ได้จับมือ มันทำให้ความสัมพันธ์มันแน่นแฟ้น แต่หนังสือจริงๆ ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นในการพัฒนา อย่างถ้าหนังสือพูดถึงเรื่องแมลง เราก็น่าจะพาเขาไปเดินดูแมลงในธรรมชาติด้วย ตรงนี้เป็นความรู้ที่เราต้องบอกให้ผู้ใหญ่เข้าใจ เงินร้อยกว่าบาทที่เสียไปกับการซื้อหนังสือ มันจะเกิดประโยชน์สูงสุดถ้าเราทำงานกับมัน คือต้องอ่านให้ฟัง เชื่อมโยงหนังสือกับชีวิตจริง

เมื่อสิบกว่าปีก่อนต้องสู้กับทัศนคติของคนเยอะขนาดไหน
เราทำเยอะมากๆ เคยกระทั่งขอรถบริษัทคันหนึ่ง ใครซื้อเอาหนังสือเราไปส่งให้ที่บ้าน ทำหมดทุกอย่าง เราก็ไม่ได้อาย เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นของดี แต่บางครั้งมันก็แทบจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ไอ้เราน่ะแน่ใจอยู่แล้วว่าหนังสือมันช่วยเด็กได้ แต่เขาก็จะพูดว่า “อะไรเนี่ย หนังสือไม่เห็นมีอะไรเลย มีตัวหนังสืออยู่บรรทัดเดียว” หรือ “ทำไมคุณต้องทำหนังสือให้มันแพงด้วย...คุณพิมพ์ถูกๆ ก็ได้”
การทำหนังสือแบบนี้มันก็ไม่ง่ายหรอก เพราะอยู่ๆ มันก็พลิกไปจากหนังสือที่มีตัวหนังสือเยอะ จาก “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...” พลิกมาเป็นตอบสนองจินตนาการกับความสนุกก่อนเป็นอันดับแรก โดยที่ไม่ต้องไปบอกว่าเด็กจะได้อะไร ช่วงแรกๆ ก็เป็นอุปสรรคขวากหนาม เพราะราคาสูง ด้วยความที่มันพิมพ์ปกแข็งและเป็นสี่สีทั้งเล่ม

"ไม่อยากให้ถึงวันพุธ เพราะทุกวันพุธจะมีประชุมบอร์ด
มันเป็นการดูตัวเลข ปวดท้องทุกทีเวลาจะประชุม
โอ๊ย...อยากหนี แต่เราก็เผชิญกับมัน"

ตอนนั้นยอดขายเป็นอย่างไร
ไม่อยากให้ถึงวันพุธ เพราะทุกวันพุธจะมีประชุมบอร์ด มันเป็นการดูตัวเลข หาทางว่าทำยังไงให้งานเราดีขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เราก็ทำเต็มที่แล้ว ปวดท้องทุกทีเวลาจะประชุม (หัวเราะ) โอ๊ย...อยากหนี แต่เราก็เผชิญกับมัน
เวลา ประชุมผู้บริหารประจำปีเราก็อยากมุดไปอยู่ใต้โต๊ะทุกครั้งเลย ถึงแม้ทุกคนไม่ประนาม แต่ในฐานะที่เป็นคนทำให้บริษัทขาดทุนทุกปี ตัวเลขติดลบทุกปี ทุกไตรมาส มันกดดันมากนะ แต่ บก. คนอื่นที่ทำหนังสือแล้วมีกำไร เช่น พี่จัน บก. แพรว พี่หนุ่ย ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาของอมรินทร์ พี่ป้อม บก. บ้านและสวน ถึงขั้นยืนยันว่าต้องให้แพรวเพื่อนเด็กอยู่ เราร้องไห้แล้วร้องไห้อีก เป็นอย่างนั้นอยู่ 10 ปี แต่บริษัทก็ดีมากนะที่เขาเชื่อคล้ายๆ กับเรา

ในเมื่อทำแล้วก็ไม่เห็นอะไรกลับมา อยากรู้ว่าให้กำลังใจตัวเองยังไง
หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ หลอกว่าเอาน่าเดี๋ยวมันก็ดี พอมองย้อนไปข้างหลังมันก็ดีขึ้นจริงๆ แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ เป็นความเชื่ออย่างเดียวเลย แต้วว่าที่อยู่ได้และอดทนทำมันได้เพราะความเชื่อ คือเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีมันต้องอยู่ได้ เราเชื่อมั่นกับมันมากว่ามันช่วยเด็กได้จริงๆ
และ การที่เราจะอยู่ให้ได้ เราต้องเลือกรับในสิ่งที่มันดีต่อหัวใจเรา เช่น พ่อแม่บางคนเขียนจดหมายมา โทรศัพท์มาชื่นชมหนังสือ อันนี้สำคัญมากๆ แม้ว่าจะนิดเดียว แต่มันช่วยให้เราอยู่ได้ ซึ่งการที่มีคนเห็นแบบนี้แสดงว่ามันต้องดีจริง แล้วถ้าทุกคนซื้อไปแล้วเอาไปใช้กับลูกแบบนี้ มันต้องเกิดประโยชน์กับเด็กแบบนี้แน่ๆ

เห็นผลเป็นรูปธรรมจากแรงที่ลงไปตั้ง 18 ปีแล้วอย่างไรบ้าง
เห็นค่ะ ตัวอย่างคืองานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกที่แพรวเพื่อนเด็กไปออกบูธ ขายได้ประมาณหลักพัน เดี๋ยวนี้ขายได้หลักล้าน ถ้าพูดถึงภาพรวมก็เห็นชัดมาก คือมีการเทงบประมาณลงมาเยอะมากๆ จากที่แต้วเริ่มทำงานตั้งแต่รัฐไม่มีงบให้แม้แต่บาทเดียว แต่ตอนนี้มีเงินเป็นพันล้านให้มาซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดในแต่ละปี
เรื่องการซื้อหนังสือก็เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึง อย่างน้อยก็ไม่มีคำว่า “เด็กอ่านหนังสือไม่ออก จะซื้อให้ทำไม” ซึ่งประโยคนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้วเป็นประโยคที่มีคนพูดกับเราเสมอ แต่วันนี้ทุกคนเข้าใจแล้วว่าเราไม่ได้ทำหนังสือให้เด็กอ่าน แต่เราทำหนังสือให้พ่อแม่ไปอ่านให้ลูกฟัง เราทำหนังสือให้ผู้ใหญ่ไปอ่านให้เด็กฟัง มันเปลี่ยนทัศนคติของคนไปเลย ก็ชื่นใจนะ เพราะไม่คิดว่าผลมันจะมาเร็วขนาดนี้ นึกว่าจะไม่ทันเห็นผลในรุ่นตัวเองด้วยซ้ำ

เด็กที่เติบโตกับหนังสือเหล่านี้มีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง
เด็กรุ่นแรกที่เคยใช้หนังสือตอนนี้อยู่ ม.6 หรือสอบเอนทรานซ์แล้ว ผลที่เกิดชัดๆ เลยคือพวกนี้ไม่ติดเกมเลยสักคน ไม่ต้องไปพึ่งพิงสิ่งอื่นนอกจากใจตัวเอง หรือบางคนอาจจะไม่ได้เรียนดีมาก แต่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ตรงนี้เราว่าเป็นผลพลอยได้ที่ดีกว่าผลการเรียนอีก

นี่คือรสชาติหอมหวานของผลไม้แห่ง ต้นไม้แห่งความเชื่อ ของพี่แต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก women40plus.com
...........................................................

โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ปี 2007 
หนังสือภาพทั่วโลกในปัจจุบัน และหนังสือภาพไทย
The Present Situation of Picture Books in the World/Picture Books in Thailand

มูลนิธิหอวรรณกรรมเด็กนานาชาติโอซาก้า
International Institute for Children's Literature, Osaka

หนังสือเล่มนี้ เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทชาวญี่ปุ่น 

มีเนื้อหาพูดถึง 
- หนังสือภาพทั่วโลกในปัจจุบัน และหนังสือภาพไทย
- ผลงานและวิธีการทำหนังสือของ ครูชีวัน วิสาสะ
- อ. พรอนงค์ นิยาค้า พูดถึงหนังสือภาพสำหรับเด็กไทย ในฐานะบรรณาธิการหนังสือเด็ก
- ประสบการณ์การทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กช่วงระยะเวลา 7 ปี
ของคุณระพีพรรณ พัฒนาเวช








คัดลอกส่วนหนึ่งจาก
ประสบการณ์การทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กช่วงระยะเวลา 7 ปี
ของ พี่แต้ว ที่พูดถึงการทำงานกับนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก 
เรื่อง ขนมของแม่

หนังสือเรื่อง ขนมของแม่ ได้รับรางวัล รักลูกอวร์ด 
ซึ่งเป็นรางวัลจากนิตยสารเกี่ยวกับแม่และเด็กที่เก่าแก่ และเป็นที่รู้จักมากที่สุดของเมืองไทย 
ในประเภทหนังสือภาพสำหรับเด็กอายุ 3-5 ขวบ (ในสมัยนั้น)

เนื้อหาหลักในเรื่องพูดถึงการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน ตัวละครเอกที่เป็นลูกหมี ที่มีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กจริงๆ กล่าวคือ เมื่อเด็กๆ พอใจที่จะให้อะไร แก่ใครแล้วก็ตาม พวกเขาก็จะไม่คิดอะไรเลยนอกจากต้องการจะให้เท่านั้น ส่วนเพื่อนสัตว์ตัวอื่นในเรื่องก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป เหมือนกับกลุ่มเด็กๆ ที่อยู่รวมกัน มีทั้งคนที่แข็งแรง คนที่อ่อนแอ คนฉลาด คนใจดี เป็นต้น หนังสือเล่มนี้ ยังมีจุดที่เด็กๆ ทุกคนชื่นชอบอยู่คือ การได้กิน และการมีเพื่อน รวมทั้งการผจญภัยร่วมกัน หนังสือเล่มนี้ได้แสดงความใจดีของผู้ใหญ่ออกมาให้ได้เห็นผ่านตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ คือลุงช้าง แม่หมีและบรรดาแม่ของสัตว์อื่น ฉะนั้นโดยภาพรวมรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น และแสดงนํ้าใจต่อกัน จึงไม่ยากที่เด็กๆ และผู้ใหญ่จะชื่นชอบ

ขอขอบคุณ พี่แต้ว ที่เลือกหนังสือนิทานเรื่อง ขนมของแม่ เป็นหนึ่งในประสบการณ์การทำงาน 7 ปี 
ทำให้ได้รู้สึกว่า การทำงานหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่ใครๆ ต่างคิดว่าง่ายนั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย
ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ ความตั้งใจ ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบต่อเด็ก
ที่สำคัญต้องมีใจรัก และทุ่มเทเป็นอย่างมาก กว่าจะมาเป็นหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กสักเรื่องนึง

เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก การได้ศึกษาสิ่งที่อยู่นอกตำรา ความรู้ที่พี่แต้วแนะนำ 
บอกเล่าปรับปรุง แก้ไข มันมีมากมายมหาศาล การทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กนั้น
ต้องเรียนรู้กันไปไม่รู้จบ ศึกษาไปตลอดชีวิตก็ยังไม่หมด 

“เรากำลังสร้างโลกอยู่นะ”  

ประโยคนี้ ที่ทำให้เราสนุกกับการทำหนังสือนิทานตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะเรารู้ว่าเส้นทางนี้มันไม่ง่ายเลย...

ขอบคุณมากค่ะ
อ้อย บอมบ์

...........................................................................................

ขอบคุณคุณฉี และสมาคมไทสร้างสรรค์ ที่เขียนบทความนี้ ถึงการทำงานของเรา
เป็นกำลังใจอันสำคัญยิ่ง เราจะตั้งใจสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานต่อไปค่ะ

หนังสือของ วชิราวรรณ ทับเสือ และ กฤษณะ กาญจนาภา
ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ถามถึงหนังสือที่ควรซื้อไปอ่านให้ลูกฟัง
จึงตั้งใจจะทยอยเอามาแนะนำ เพราะการมีหนังสือที่ดีนั้นเป็นส่วนสำคัญ
ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้อะไรๆ มากขึ้น
ใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ ประทับใจ และจะอยู่กับพวกเขาไปแสนนาน
เป็นคู่ขวัญทั้งในชีวิตส่วนตัวและงาน
หนังสือหลายเล่มของพวกเขาจึงเป็นการทำงานร่วม
และกลายเป็นมาตรฐานที่นักเขียนรุ่นน้องต้องศึกษา
เพราะทั้งคู่ทำงานละเอียด และปราณีตมาก หลายเล่มมีรายละเอียดที่น่าทึ่ง (โดยเฉพาะชุดสี่สหาย)
ราวกับงานของ มิตสุมาสะ อันโน ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันออก 

และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ
ความสามารถในการเข้าหาเด็กๆ อย่างอ่อนโยน (ทั้งที่ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง)
และความอ่อนโยนนี้ปรากฏทั้งในภาพ เนื้อเรื่อง และวิธีการเล่าเรื่อง
ที่หนังสือมากมาย(กว่าร้อยละ ๙๐)ในบ้านเราทำไม่ได้
ออกแบบภาพให้ "บางกอกเมืองดอกไม้" เป็นเล่มแรก
(แต่งโดย พรอนงค์ นิยมค้า สนพ.แพรวเพื่อนเด็ก)
ที่เธอแสดงฝีมือได้ยอดเยี่ยม ไม่แพ้งานระดับสากลเล่มใดๆ
ทั้งในเล่มยังประกอบด้วยภาพล้อเลียนผู้คนในวงการหนังสือภาพสำหรับเด็กไว้ครบถ้วน 
ทั้งครูชีวัน ครูปรีดา ป้าพรอนงค์ น้าแต้ว ครูเกริก ฯลฯ
(เด็กๆที่คุ้นเคยกับหนังสือจะรู้จัก จะมองออก - ยกเว้นลุงฉี ที่ไม่รู้เป็นใคร )
หากดูแล้วว่าตรงกับวัย ตรงกับระดับพัฒนาการทางการอ่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่ทั้งคู่เป็นผู้แต่งเอง
เพราะในบรรดานักเขียนรุ่นเดียวกันแล้ว
มีไม่กี่คนที่สามารถสร้างงานได้คุณภาพพอจะเทียบเคียง
ทั้งเนื้อหา วิธีเล่าเรื่อง และภาพประกอบ
(และทุกคนก็รู้สึกได้ว่า ทั้งคู่ตั้งใจพัฒนางานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา)
วชิราวรรณ ทับเสือ และ กฤษณะ กาญจนาภา
จึงแนะนำให้ซื้อหนังสือของพวกเขาได้โดยไม่ต้องลังเล


คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์
สมาคมไทสร้างสรรค์
.......................................................................................

เด็กได้อะไรจากหนังสือภาพ





Popular Posts