ขั้นตอนการทำหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็ก

บรรณาธิการ : ระพีพรรณ พัฒนาเวช
เรื่องและภาพ : วชิราวรรณ ทับเสือ, กฤษณะ กาญจนาภา
สำนักพิมพ์ :  TK Park ในโครงการ สร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น (จ.ยะลา)
มีแจกฟรีที่ TK Park จังหวัดยะลา


คลิ๊กอ่านเรื่องได้ที่รูปค่ะ







หนังสือภาพเรื่อง “รอก่อนนะ” เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่ตั้งใจจะเอานํ้าไปให้แม่ ป้า ย่า หรือยาย
แล้วแต่ว่าอยากจะเอาไปให้ใคร ระหว่างทางเดินในสวน (ซึ่งระยะทางสั้นมาก)
ก็ผ่านสิ่งล่อใจต่างๆ ซึ่งคือเพื่อนทั้งหลายในจินตนาการ ที่มาชวนไปเล่น 
จริงแล้วอยากจะไปเล่นเองมากกว่า ใจนึงก็อยากจะไปเล่น อีกใจนึงก็ตั้งใจจะเอานํ้าไปให้แม่
ได้แต่บอกเพื่อนๆว่า รอก่อนนะ 

ขณะที่กำลังเดินถือแก้วนํ้าอย่างไม่ทันระวังประสาเด็ก ก็สะดุดก้อนหินนํ้าหกไปครึ่งแก้ว
ทำท่าว่าจะร้องไห้ เพราะตกใจ 
แต่ก็ยังคิดได้และมองโลกในแง่ดีว่า

“นํ้ายังเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว” 
แล้วก็เดินถือต่อไปให้แม่ดื่มได้สำเร็จ 

‘ชื่นใจจัง’ 

ไปเล่นได้แล้วจ้ะ...

หนังสือภาพเล่มเล็กๆ นี้ เราแอบคุยกับเด็ก แอบซ่อนเรื่องราวเอาไว้ ทั้งความตั้งใจ
มุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองจะทำ ความเข็มแข็ง การมองโลกในแง่ดี
และมีความรักกันภายในครอบครัว ทุกอย่างเป็นไปในทางบวกทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความสนุก นอกนั้นเด็กจะได้สิ่งที่เราต้องการจะบอกหรือไม่
เป็นเรื่องรองลงมา
หวังว่าเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ทั้งหลาย จะสนุกสนานกับหนังสือนิทานภาพเล่มเล็กๆ นี้

และนี่คือขั้นตอนการทำงานคร่าวๆ ตั้งแต่ Sketch งาน จนออกมาเป็นรูปเล่มของ “รอก่อนนะ”


 รอก่อนนะ


หลังจากคิดโครงเรื่องได้แล้ว
ก็ลงมือ Sketch หัวกลมๆ เพื่อให้เห็นโครงเรื่องคร่าวๆ และจัดให้ลงตามจำนวนหน้าด้วย



 ปกแรก ลองลงสี จัดสัดส่วน มุมมอง และลองวางชื่อเรื่อง ไม่ไหวเลย ชื่อเรื่องยังเป็น รอเดี๋ยวนะ 
พี่แต้วแนะนำว่า ไม่ใช่ภาษาเขียนที่ถูกต้อง แต่เป็นภาษาพูด เลยเปลี่ยนมาเป็น รอก่อนนะ 
เพราะการทำหนังสือนิทานเด็ก ควรระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องด้วย
และรวมถึงทุกอย่างแม้แต่เสื้อที่ใส่ สังเกตว่าเสื้อจากสีนํ้าเงิน เปลี่ยนมาเป็นลายส้ม
(สีนํ้าเงิน มีหลายความหมาย หมายถึง ความเข็มแข็งมั่นคง, ผู้ชาย, ความเศร้า ฯลฯ เปลี่ยนดีกว่า)


ท่าถือแก้วนํ้า จะให้ดีก็ต้องศึกษาร่างกายของเด็กว่า เด็กถือแก้วนํ้าอย่างไร
ขอบคุณวิชากายวิภาคที่รํ่าเรียนมา ได้ใช้ทุกอย่างในงานเสมอ


Sketch ขนาดเท่าจริง หยาบๆ ออกแบบตัวละคร เป็ด กบ ปรับให้ลงตัว
และเลือกให้เด็กใส่รองเท้าแตะแบบคีบ เป็นความชอบส่วนตัว


ระวังเรื่องความต่อเนื่องของฉาก และภาพรวมทั้งหมด รวมถึงสัดส่วนของเป็ด กบ ผีเสื้อทั้งหลาย

จัดวางตำแหน่ง หน้าจบให้ลงตัว เคารพตัวละครทุกตัวที่ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่ต้น 
ระวังไม่ให้หลุด หรือหายไป เพราะเด็กจะสนใจทุกสิ่งที่อยู่ในหนังสือภาพจ้ะ


 ปกที่ 2 ปรับมุมมองการเดินเพื่อนำสายตาเด็กเข้าไปดูเรื่องราวในเล่ม และเปลี่ยนชื่อเรื่อง


ปรับจาก Sketch แรก ให้เป็นเส้นจริงพร้อมลงสี  ลองเลือกสีเสื้อดูว่าจะใช้สีอะไรดี เพราะสีก็มีความหมาย


 ระวังเรื่องมุมมองของภาพ ไม่ให้เข้าสันกลางเกินไป แต่ก็ไม่จำเป็นมากนัก 
ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของภาพทั้งหมดด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นการแบ่ง ซ้าย-ขวา เกินไป


ด้วยความสนุกของคนทำ เพิ่มโน่นนี่นั่นเข้ามาอีก ในภาพนี้คือเพิ่มมดเข้ามาเป็นแถว
คราวนี้เลยต้องไปไล่เติมตั้งแต่หน้าแรกกันใหม่ เพื่อความต่อเนื่อง จะมาทิ้งขว้าง
อยู่ดีๆมดก็โผล่มาไม่ได้ ถือว่าไม่รับผิดชอบเอาซะเลย


 หลังจาก Sketch 2 ก็ลงสีได้ เนื่องจากเป็นเด็กใต้ สีผิวของเจ้าหนูจึงเข้มนิดนึง


 งานพิมพ์สีมักจะเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ยิ่งงานสีนํ้ามักจะเพี้ยนค่อนข้างมาก แต่ไม่เป็นไร แค่ไหนก็แค่นั้น

มุมมองของภาพ จะเป็นมุมเดียว จากซ้ายไปขวา เพราะเป็นหนังสือเด็กเล็ก 
การใช้มุมมองหลากหลาย เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจ อยากให้เขาดูง่าย เข้าใจง่ายก่อน 
เรื่องยากซับซ้อน ไว้ใช้กับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย


หน้านี้ เด็กร้องไห้ออกมานิดหน่อย แต่ข่มใจไว้ เพราะมีเพื่อนๆ อยู่ด้วย
เราบอกเด็กให้มองด้านบวกว่า นํ้ายังเหลืออยู่ตั้งครึ่งแก้ว


สำเร็จตามความตั้งใจ ถึงแม้นํ้าจะหกไปบ้าง


ยอมรับความผิดพลาดที่ทำนํ้าหก และมีความสุขต่อไป

เล่มนี้ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จเป็นเล่มประมาณปีกว่าๆ
เพียงแต่ใช้เวลาวาดจริง หลังจากสรุปเรื่องและ Sketch เรียบร้อยแล้วประมาณ 2 เดือน 
ถือว่าวาดเร็วกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำมา เสร็จแล้ว ก็หายเหนื่อย
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำงานคนเดียว มี บก พี่แต้ว ช่วยปรับ ช่วยดูแก้ไข  แนะนำ
และทำงานร่วมกันตลอดมาค่ะ

ขอให้มีความสุขค่ะ

Popular Posts