Beatrix Potter

the Complete Tales








หนังสือภาพเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากเล่มหนึ่งของโลก
หนึ่งในนั้น มีเรื่อง กระต่ายน้อยปีเตอร์ ที่ถูกแนะนำ
โดย คุณธีวงษ์ ธนิษฐ์เวธน์  ผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์
ในหนังสือ เด็กไท ฉบับ นิทานเพื่อน้อง

ความโดดเด่นของกระต่ายน้องปีเตอร์ อยู่ที่ความเป็นเด็ก อบอุ่น และเป็นมิตร รวมถึงภาพประกอบที่เป็นเลิศด้วยฝีมือของผู้ประพันธ์ ที่กลายเป็นตำนานและเป็นที่รักของเด็กๆทั่วโลก ไม่น้อยไปกว่าเจ้าตัวกระต่ายน้อยปีเตอร์ และปีเตอร์เองก็กลายเป็นตัวแทนของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ ผู้ประพันธ์ ในความเป็นเด็ก ความโดดเดี่ยว ความฝัน การผจญภัย และอีกหลายอย่างที่ขาดหายไปในวัยเด็กของเธอ

สิ่งที่ทำให้นิทานเล่มนี้เป็นอมตะ มีองค์ประกอบหลักๆ อยู่สองสามประการ 
คือมีความเป็นเด็กอย่างแท้จริง เพราะเด็กๆ ทุกคนต่างก็เคยแอบทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้ามอยู่เสมอ เพียงแต่เรื่องของปีเตอร์ชัดเจนกว่า ตื่นเต้นกว่า ด้วยท่าทีการเล่าเรื่องที่อ่อนโยน จนเด็กๆไม่รู้สึกว่าผู้เล่าหาเรื่องมาสอน หรืออบรม 
การถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นกลาง คล้ายรู้มาอย่างไรก็เล่าไปอย่างนั้น ทำให้ผู้ฟัง (เด็กๆ) รับสารอย่างเต็มใจและสนุกสนาน

ส่วนภาพประกอบนั้นมีทั้งความสดชื่น อบอุ่น มีอารมณ์ขัน หากดูนุ่มนวล ใจดี มีการวางองค์ประกอบศิลป์ที่น่ามหัศจรรย์ และสมบูรณ์แบบ

อารมณ์ขันของผู้ประพันธ์ ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆของเรื่องอยู่เสมอ เป็นตลกร้ายในความรู้สึกของผู้เขียน อ่านแล้วให้รู้สึกแสบๆคันๆ เช่น ประโยคแรกที่แม่กระต่ายพูดขึ้นว่า
“ลูกรักของแม่ลูกจะออกไปเที่ยวในทุ่งหญ้า หรือเดินเล่นไปตามทางเดินก็ได้จ้ะ แต่อย่าเข้าไปในสวนของคุณแม็คเกรเกอร์นะ พ่อของลูกไปเกิดอุบัติเหตุเข้าที่นั่น คุณนายแม็คเกรเกอร์จับพ่อไปทำไส้ขนมพาย”

รวมทั้งตอนที่ปีเตอร์พบเจ้าหนูแก่คาบเมล็ดถั่วอยู่ในปาก ถามอย่างไรมันก็ไม่สามารถบอกทางได้เพราะปากไม่ว่าง
อ่านซํ้ากี่ครั้งก็รู้สึกว่าเป็นตลกร้าย ท่าทีการเล่าของบิทริกซ์ พ็อตเตอร์ เป็นการเล่าอย่างผู้เห็นเหตุการณ์เท่านั้น ไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวของตนเข้าไปใส่ มันจึงมีความเฉยชาปะปนอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อมาถึงตอนอารมณ์ขันแบบร้ายๆ ทำให้รู้สึกร้ายขึ้นไปอีกหลายเท่า

ข้อนี้เข้าใจว่าผู้ประพันธ์พยายามทุกวิถีทางที่จะปรามเด็กๆที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เรียกว่าทั้งขู่ทั้งปลอบ เพราะตอนจบนั้นอบอุ่นเหลือเกิน เด็กๆทุกคนสามารถรู้สึกและเข้าใจได้ว่าที่ที่ปลอดภัยที่สุดคือบ้านของเรานั่นเอง แม่ไม่ได้ตำหนิปีเตอร์สักคำ กลับชงชาสมุนไพรให้ดื่ม และพูดสั้นๆแค่ 
“หนึ่งช้อนโต๊ะก่อนนอนนะจ๊ะ”

แล้วผู้ประพันธ์ก็จบเรื่องของปีเตอร์ไว้เท่านี้ ข้อสรุปทุกอย่างให้เด็กๆคิดเอง

กล่าวสำหรับท่าทีของแม่กระต่ายนั้นเป็นประเด้นที่น่าสนใจมาก คล้ายกับจะบอกว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นต้องหนักแน่น ให้โอกาสเด็กๆได้เรียนรู้โดยไม่ผลักใสให้เข้าไปอยู่ในกรอบที่พ่อแม่ต้องการ แต่คอยชี้แนะและช่วยเหลือเมื่อพวกเขาต้องการ แล้วเด็กๆก็จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างมีความหมาย

กระต่ายน้อยปีเตอร์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ ในการใช้นิทานอธิบายความซับซ้อนให้เด็กๆเข้าใจ (ได้ดีจนไม่ต้องอธิบาย) เป็นแบบอย่างของหนังสือนิทานภาพที่สั่งสอนเด็กโดยที่เด็กๆไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสั่งสอน เป็นคำอธิบายให้ผู้ใหญ่จำนวนมากเข้าใจว่า เด็กๆผจญภัยผ่านหนังสือนิทานได้อย่างไร นอกจากนั้น กระต่ายน้อยปีเตอร์ ยังบอกเราด้วยว่า

การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้น เขาเป็นกันอย่างไร

Popular Posts