Picture Book หนังสือภาพสำหรับเด็ก เริ่มอย่างไร

เขียนเรื่องทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทำอย่างไร มาหลายตอนแล้ว 
คราวนี้มาตอบคำถามที่หลายคนมักจะถามมาบ่อยๆ ว่า แล้วเริ่มอย่างไร
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีเฉพาะของเราเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าเป็นวิธีที่ถูกทั้งหมด
ยังต้องศึกษาพัฒนากันต่อไปไม่มีวันจบสิ้น 
...........................................................................


วิธีคิด เรื่มต้นหนังสือภาพ จุดเริ่มต้น เริ่มอย่างไร
1. คิดขึ้นมาเองจากศูนย์
2. มีโจทย์มาให้ อาจจะเป็นบรรณาธิการ สนพ ที่ต้องการให้เราทำเรื่องอะไร 
สองอย่างนี้ต่างกันเล็กน้อย แต่วิธีคิดและทำก็เหมือนกัน



แบบไม่มีโจทย์
เราจะเป็นคนตั้งจุดเด่นของหนังสือเองว่า จะให้น่าสนใจตรงไหน ทำไมเด็กต้องอ่าน 
สำนักพิมพ์อยากพิมพ์และจุดที่เราอยากจะทำ 
เช่น ภาพสวยงาม ภาพลายไทย เรื่องตลก ขำขัน เรื่องประทับใจ ลึกซึ้ง 
หรือแฟนตาซีที่ให้เด็กได้จินตนาการ

แบบมีโจทย์
เอาโจทย์มาตั้งแล้วคิดตาม เช่น โจทย์ให้มาคือเรื่อง “จิ้งจกหางด้วน” เราต้องคิดว่า 
ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องจิ้งจก มีความน่าสนใจตรงไหน จะเสนออย่างไรให้น่าสนใจ 

เมื่อหาจุดเด่น ความน่าสนใจได้แล้ว ก็คิดต่อว่า จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอะไร 
ตอนนี้ระหว่างมีโจทย์กับไม่มีโจทย์ วิธีคิดก็จะเหมือนกันแล้วต่อจากนี้


สนุกอย่างไร 
ข้อนี้สำคัญมาก หนังสือภาพสำหรับเด็กหลายเรื่องพยายามจะบอก หรือสอนมาก
จนมองข้ามความสนุกไป หลายครั้งหนังสือภาพสำหรับเด็กจึงกลายเป็นหนังสือที่ตั้งใจสอน
เมื่อเป็นแบบนั้นเด็กก็จะไม่สนใจ อาจจะต่อต้าน ไม่ประทับใจก็ไม่จดจำ ไม่จดจำก็ไม่ทำตาม
สิ่งที่เราพยายามจะบอกก็ไม่มีความหมาย

บางเรื่องเสนอภาพเชิงลบ  เช่น “หมีเกเร” เด็กหลายคนก็จะรู้สึกเหมือนถูกต่อว่า 
ไม่มีใครอยากอ่านหนังสือที่ว่าตัวเอง แม้แต้ผู้ใหญ่ก็ตาม 
ถ้าเปลี่ยนเป็นเสนอภาพเชิงบวกทำอย่างไรถึงจะแก้ไขตัวเองได้นะ
เปลี่ยนจุดเด่นของเรื่องเป็นเชิงบวก เป็น “หมีใจดี”  เด็กก็จะอยากทำตาม

การทำหนังสือเชิงลบไม่น่าสนุกเลยสำหรับเด็ก เราเชื่ออย่างนั้น 
(เป็นประสบการณ์จริงของตัวเอง เด็กบอกว่า เขาเป็นเด็กไม่ดีเหรอถึงได้เอาหนังสือแบบนี้มาให้เขาอ่าน) 

หนังสือเล่มนั้นก็จะไม่ได้ถูกหยิบมาอ่าน 
น่าเสียดาย

หนังสือภาพสำหรับเด็ก อ่านแล้วสนุก มีความสุข แล้วค่อยแทรกสิ่งที่อยากจะบอก 
การเล่าเรื่องที่มีจังหวะไม่ต่างกับการทำภาพยนตร์ หรือเพลง มีจุดที่เรียกว่า climax 
การขมวดปม คลี่คลายปัญหา และ จบให้ประทับใจ



จะบอกอะไร บอกอย่างไร อยากบอกไปหมด
เด็กไม่ชอบถูกสอน หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ใช่หนังสือเรียน มาชวนเขาเที่ยวเล่น 
ท่องโลกจินตนาการ รู้จักสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือชวนมาเป็นเพื่อนกัน เล่นด้วยกันผ่านหนังสือภาพ

วิธีบอกของเราคือ ให้ตัวละครทำให้ดู 
เช่น เป็นเพื่อนกัน การผูกมิตรกันทำอย่างไร การช่วยเหลือ มีนํ้าใจ ทำอย่างไร
ทำแล้วได้อะไร  เพื่อให้เขาทำตาม 

ไม่จำเป็นต้องสอนหรือต้องให้อะไร มีหนังสือที่ชวนเล่นอย่างเดียว 
ตัดกระดาษ ระบายสี สนุกอย่างเดียวเลยก็มี หนังสือควรมีหลากหลาย
เพราะเด็กก็มีหลากหลาย ไม่เหมือนกัน

ไม่ลืมว่าเด็กเพิ่งเกิดมาได้ไม่กี่ปี เขาตื่นเต้นกับทุกสิ่ง ถ้าเราคิดแบบผู้ใหญ่เกินไป 
พยายามคิดซับซ้อน อยากบอกอยากสอนไปหมด อาจยากเกินไปสำหรับเด็ก 
ไม่ได้บอกว่าคิดซับซ้อนไม่ดี แต่ต้องให้ง่าย เราอาจมีสิ่งที่อยากจะบอกมากมาย 
แต่เลือกที่สำคัญเพียงหนึ่งข้อ เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถรับเรื่องที่ซับซ้อนได้ 

คิดซับซ้อนง่ายกว่าคิดเรียบง่าย 
การบอกทุกสิ่ง ใส่ทุกอย่างที่อยากบอกนั้น ง่าย แต่เด็กจะเข้าใจหรือไม่ เป็นอีกเรื่องนึง 
ที่คนทำหนังสือต้องทำความเข้าใจให้มาก 

การทำให้ออกมาดูง่ายๆ นั้นยาก

เพราะเราใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจ ใช้คำน้อย ในจำนวนหน้าที่จำกัด ให้เด็กเข้าใจ ด้วยภาษาที่ง่าย

หนังสือเด็กควรบอกเพียงหนึ่ง หรือสองประเด็น
เมื่อบอกประเด็นแรกได้แล้ว อาจจะแอบซ่อนสิ่งที่อยากจะบอก สอง สาม ไปอีกได้ 
ถ้าเด็กไม่ได้รับสิ่งที่เราบอกก็ไม่เป็นไร เพราะเด็กเมื่ออ่านเล่มไหนแล้วถ้าเขาชอบ 
เขาจะอ่านซํ้าๆ อยู่อย่างนั้น และสิ่งที่เราแอบซ่อนไว้ เมื่อเขาอ่านรอบต่อๆ ไป อาจจะเจอ 
พอเด็กเจอก็จะสนุก ว่ามีอะไรอีก เขาก็จะอ่านอีกก็เจออีก นั่นคือความสนุกของหนังสือภาพ 
ที่ไม่ได้อ่านรอบเดียวก็จบไป สารที่เราส่งไป สอง สาม เด็กก็จะรับได้และเกิดผลสำเร็จ


ออกแบบภาพอย่างไร
ดูจากความรู้สึกของเรื่องว่าไปในทิศทางไหน เราจะออกแบบงานของเราอย่างไรให้เหมาะสมกับเรื่อง 
วิธีการออกแบบภาพถ้าให้ความรู้สึกเข้าถึงเด็กได้ ถือเป็นงานศิลปะที่ดีสำหรับเด็ก เด็กเข้าใจ เข้าถึง 
จะต่างจากงานศิลปะของผู้ใหญ่ ที่เราจะวาดอย่างไรก็ได้ ตามใจศิลปิน ผู้ใหญ่จะเข้าใจหรือไม่ก็ได้ 
แต่หนังสือภาพสำหรับเด็ก เด็กควรเข้าใจ ภาพเข้าถึงเด็กอย่างอ่อนโยนและเป็นมิตร 

ไม่จำเป็นต้องทำงานตามเทรนด์ สมัยนิยม แฟชั่น เพราะเด็กไม่ยึดติด 
และผูกกับสิ่งเหล่านี้เหมือนผู้ใหญ่ 

หนังสือเด็กไม่ใช่แฟชั่น

การออกแบบภาพ เริ่มต้นจากพื้นฐานของตัวเอง ทุกคนมีลายมือของตัวเอง 
ที่ไม่มีทางเหมือนใคร

การเอาดีไซน์ของคนอื่นมาดัดแปลง มาเป็นต้นแบบวาดตาม 
งานสวยเร็วตามต้นแบบ แต่เมื่อทำบ่อยๆ งานก็ไม่พัฒนา ถูกกลืน
ถ้าไม่มีต้นแบบก็วาดไม่ได้ ทำลายความสามารถและพัฒนาการของตนเอง 

แต่ถ้าเริ่มต้นผิด หลายคนถูกบีบให้ทำเหมือนกันหมด ลายเส้นเหมือนกัน 
ก็จะสูญเสียความเป็นตัวเองไป 

ผลเสียอาจไม่เกิดกับเด็กที่อ่าน แต่เกิดกับตัวเอง น่าเสียดาย

เทคโนโลยีปัจจุบันนี้ดี แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง
มาพัฒนางานจากลายมือของตัวเอง  ทำให้เด็กๆ สนุก 
เมื่อทำงานที่เราพอใจ จะสวย เก๋ เท่ แนว แรง ที่สำคัญ เด็กเข้าใจ
ก็จะเกิดประโยชน์ที่สุด

หนังสือภาพสำหรับเด็กบางเรื่องที่สวยงาม อาร์ตมาก 
เมื่อนำไปใช้กับเด็กๆ  ถ้าเขาไม่เข้าใจ 
มันน่าเสียดาย และผิดวัตถุประสงค์ 

งานศิลปะของผู้ใหญ่หลายครั้งก็ดูไม่เข้าใจ ต้องให้ศิลปินมาอธิบายว่าหมายความว่าอะไร 
ซึ่งศิลปะควรอธิบายด้วยภาพ แต่ก็ไม่สำคัญเพราะไม่มีผลกระทบกับใคร 
คนที่เข้าใจเขาจะชอบ คนไม่เข้าใจหรือไม่ชอบก็ไม่เป็นไร 
เพราะเป็นศิลปะของผู้สร้างงานเอง

แต่การทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ควรคุยกับเด็กให้เข้าใจ


วิธีออกแบบและวาดภาพของพวกเราคือ 
วาดจากธรรมชาติจริงๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ศึกษาจากธรรมชาติรอบตัว

สิ่งที่เรารู้จักดีที่สุด มันจะช่วยให้งานเราได้ความรู้สึกที่สุด มากกว่านึกเอาเอง หรือดูรูป 
ดูต้นแบบจากรูปเขียนหรือรูปถ่ายคนอื่น 
เพราะแค่รูปถ่ายก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าตรงนั้นคืออะไร สีนี้คืออะไร 
แล้วค่อยตัดทอนเป็นลายมือ เป็นภาพสำหรับเด็ก หรืออะไรก็ตาม ด้วยวิธีของตัวเอง 

เด็กก็จะเข้าถึง  เข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะคนวาดเคยเห็นเอง อธิบายได้ 

เริ่มจากตัวตนจริงๆ ของตัวเอง แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองต่อไป

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา แต่จะมั่นคงและจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับผู้ที่แต่งเรื่องอย่างเดียว
ถ้าคิดเป็นภาพด้วยจะทำให้ทำงานง่ายขึ้นมาก คร่าวๆ ก็ได้ ปัญหาของผู้ที่แต่งเรื่องส่วนใหญ่
คือ คิดและบรรยายเป็นคำ พอมาให้คนวาด มักจะกลายเป็น ภาพ ประกอบ คำ 
และมีคำบรรยายมากเกินความจำเป็น 

การทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ภาพ และ คำ ไม่ควรเซํ้ากัน
การดำเนินเรื่องจะคืบหน้าได้ดีกว่า

ยกตัวอย่างภาพนี้ ถ้าเราเขียนบรรยายภาพแบบนี้

แมลงเต่าทองตัวเล็กจิ๋ว ปีกสีแดงลายจุดสีดำ 
กำลังบินผ่านรังของนกเค้าจุด 
ที่มีแม่และลูกนกสองตัวกำลังหลับอยู่ ลูกนกตัวหนึ่งตื่น 

และสังเกตเห็นว่า เอ๊ะ นั่นตัวอะไรนะ จึงพยายามจะดู 
ด้วยความไม่ระวัง เลยหล่นออกมาจากรัง
แม่นกเห็นลูกนกเค้าจุดหล่นออกไปจากรัง 
ในขณะที่พี่ก็ยังคงหลับอยู่

เมื่อบรรยายภาพไปหมดแล้ว เด็กก็ไม่มีโอกาสได้ใช้สายตา ความคิด 
การสังเกตเชื่อมโยงอะไรเลยเพราะทุกอย่างถูกบรรยายไว้หมดแล้ว 
ถูกกำกับความคิดไว้เพียงสิ่งที่นักเขียนต้องการจะบอกเพียงอย่างเดียว 
เหมือนการฟังเรื่องเล่ามากกว่าการอ่านหนังสือภาพสำหรับเด็ก
ภาพแทบจะไร้ความหมาย

สำหรับหนังสือภาพของเรา ถือว่าเป็นคำบรรยายภาพ เมื่อวาดภาพตามคำบรรยายของนักเขียนแล้ว 
ก็จะตัดคำบรรยายทั้งหมดนั้นออกไป ไม่จำเป็น ปล่อยให้เด็กได้ดูและคิดเอง

ปล่อยให้ภาพทำหน้าที่ของภาพไป และ คำ ก็ทำหน้าที่ของ คำ ไป โดยไม่ซํ้ากัน 
ภาพจะไม่แย่งหน้าที่ของตัวหนังสือ และตัวหนังสือก็ไม่แย่งหน้าที่ของภาพ
แต่ทั้งสอง ทำหน้าที่ส่งเสริมกันและกัน 

สรุปว่า คำที่เราใช้ก็แค่นี้
    
         “หล่นแล้ว !” 

เด็กจะได้ดูภาพ กวาดสายตา สังเกต ใช้ความคิด ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร 
และสนุกไปกับการใช้ความคิดเชื่อมโยงคำกับภาพด้วยตนเอง 

เด็กอาจจะคิดว่า ลูกนกไม่ยอมหลับ ซน หล่นมาเอง หรืออยากจะบินเล่น แล้วหล่นมาเอง 
อะไรก็ได้ เพราะสุดท้าย ลูกนกก็หล่นอยู่ดี 

นักเขียนและนักวาดถ้าได้ทำงานร่วมกันจะดีมาก เพราะนี่คือหนังสือภาพสำหรับเด็ก

* การทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ระวังอะไรบ้าง 
รับผิดชอบ รอบคอบ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเราทำหนังสือให้เด็กอ่าน

 สมมติว่า เราทำหนังสือที่มีตัวละครร้าย เราให้สุนัข เป็นตัวร้าย
เด็กก็อาจจะจำว่า สุนัขเป็นสัตว์ไม่ดี ถ้าเราจะรับผิดชอบ ควรระบุไปเลยว่า สุนัขหน้าบาก 
หรือสุนัขสีดำที่ชื่อว่าก๋องก๋อย ตัวนั้น นิสัยไม่ดี  เป็นตัวละครไม่ดี ไม่ใช่สุนัขทั้งหมดไม่ดี

ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสุนัขด้วย เราจะไม่ให้ความเชื่อที่ผิดๆ กับเด็ก 
(สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ หมูสกปรก ควรระบุไปเลยว่าใคร ไม่เหมารวม) 
ไม่อย่างนั้นเมื่อเด็กเจอหมูก็รังเกียจ เพราะเราฝังหัวไว้ว่า หมูสกปรก 

อันนี้เป็นตัวอย่างของความระมัดระวังในแบบของเรา

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการทำงานของเรา ต้องเรียนรู้กันไปอีกตลอดชีวิต 
หรืออาจนานกว่านั้นนิดหน่อย

หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่มีสูตรสำเร็จ หาวิธีของตัวเอง 
ปรับเปลี่ยนไปตามความถนัดของตัวเอง

และไม่ลืมว่า หนังสือภาพสำหรับเด็ก ไม่ใช่สำหรับตัวเอง

หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง
ขอให้มีความสุขค่ะ


Popular Posts