Picture Book ทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทำอย่างไร (4)

ขั้นตอนการทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก 0-3 ปี เล่มล่าสุด (คร่าวๆ)
เริ่มตั้งแต่เสก็ตช์ความคิดเริ่มต้น
- อยากจะคุยอะไร อยากจะเล่นอะไรกับเด็ก (ต้องรู้จักคนที่เราอยากคุยด้วย)
- หา Theme ของเร่ืองให้ได้ เช่น เรื่องนี้คือ อยากให้เด็กสนุกกับการทำอะไรด้วยตัวเอง
- หาตัวละครมาเป็นตัวแทนที่จะเล่นกับเด็ก
เมื่อหาได้แล้วก็เริ่มเล่าเรื่องกันเลย

2 เรื่องนี้ ผ่านการสเก็ตช์เยอะมาก ลองแล้วลองอีก ทิ้งไว้ ปรับแก้
มีขั้นตอนการทำงานที่ยาวนานทีเดียว กว่าจะเสร็จออกมาเป็นหนังสือภาพแต่ละเล่ม
2 เรื่องนี้ หนึ่งเรื่องใช้เวลาทำงาน ปี 2011 - 2015 รวมแล้วประมาณ 3 ปีกว่า
อีกเรื่องประมาณหนึ่งปี หนังสือไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำนานแค่ไหน
ถ้ามันใช้ได้ ก็ทำเลยจ้ะ

อ่านก่อนหน้านี้ได้ที่นี่ค่ะ
ทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทำอย่างไร (1), (2), (3)

ได้ตัวละครแล้ว เลือกเป็นลูกนก พร้อมตั้งคำถาม ตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นลูกนก
ความคิดเริ่มต้นออกมาแบบรวดเร็ว สเก็ตช์ก็เลยเล็กมากๆ เพราะรีบคิดรีบเขียน
จัดวางโครงเรื่องให้ลงจำนวนหน้า
คิดเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2011 และทิ้งไว้พักนึง

กลับมาดูอีกที ยังไปต่อได้
ก็เริ่มหาข้อมูล สเก็ตช์ ออกแบบตัวละคร ศึกษาลักษณะท่าทาง พร้อมที่จะเล่นกับเด็กแล้วนะ
และก็ทิ้งมันไว้อย่างนั้นอีก แล้วค่อยกลับมาดูใหม่ว่ายังใช้ได้อยู่หรือเปล่า

กลับมาดูอีกที ยังใช้ได้นะ คิดเอาเองว่า เรื่องราวเรียบง่ายธรรมดามักจะอยู่ได้นาน
คราวนี้ความคิดก็แตกออกมาได้อีกเรื่อง ดีใจมาก รีบสเก็ตช์เป็น storyboard 
คิดและปรับออกมาให้เข้ากันกับเรื่องแรก

คิดว่าใช้ได้แล้ว ก็เสก็ตช์อีก คราวนี้ทำ mock up ขึ้นมาเป็นเล่มด้วย
เพื่อให้เห็นใกล้เคียงกับการใช้งานของหนังสือ

หลังจากพักไว้ กลับมาดูอีก
นกถูกเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนทำไม ทำไมถึงเปลี่ยน ตอบให้ได้
เลยสเก็ตช์อีกเล่ม ปรับจนกว่าจะพอใจ ลองตั้งชื่อเรื่อง และออกแบบหน้าปกคร่าวๆ ดูซิ

ออกแบบภาพ ตามที่สเก็ตช์ไว้ ดูว่าในแต่ละหน้า ภาพลงตัวไหม

หาข้อบกพร่อง ตั้งคำถาม ตอบคำถาม ทิ้งไว้ แล้วกลับมาดูใหม่ ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง
ใช้ได้คือใช้ได้ ใช้ไม่ได้ก็ต้องแก้ไข

อีกเรื่องที่ความคิดแตกออกมา ได้ตัวละคร และเริ่มสเก็ตช์ไปพร้อมๆ กันกับเรื่องแรก

ออกแบบภาพ ตัวละคร มุมมอง เพื่อที่จะคุยกับเด็กให้เข้าใจ
ไม่ลืมว่าเป็นเด็กเล็ก (รู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยนะจ๊ะ)

เด็กเล็กมีประสบการณ์การ ดู-อ่าน น้อยมาก มุมมองภาพ เราเลยออกแบบตัวละครที่ไม่หวือหวา
เรียบง่าย ใกล้เคียงภาพจริง อยากคุยกับเด็กให้เข้าใจกัน ต้องใช้ภาษาเดียวกัน

ลองลงสีดู ว่าอยากวาดแบบไหน อยากให้ภาพออกมาแบบไหน อยากคุยกับเด็กแบบไหน
เลือกเลย


แบบนี้ล่ะ โหดไปนะ ไม่ใช้ดีกว่า ไม่เป็นไร เก็บเอาไว้ใช้งานอื่นๆ ได้

ตัวนี้ก็ไม่ได้ใช้ พักไว้ก่อน
พยายามทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะถ่ายทอดลงไปให้เด็ก ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


สุดท้ายมาลงตัวที่แมวดำ เพราะเลี้ยงเอง เรารู้จักเขาดีที่สุด

ภาพนี้ก็ไม่ได้ใช้ แต่เอาไปคิดต่อได้หนังสืออีกเรื่อง

เอาล่ะ สเก็ตช์ดินสอมาเยอะแล้ว มาสเก็ตช์สีกันเถอะ
ลองเท่าขนาดจริง ปรับขนาดของหนังสือให้ลงตัว
เพื่อเล่าเรื่องให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น เรื่องนี้เป็นเรื่องการขึ้นต้นไม้ 
ก็ออกแบบเป็นหนังสือแนวตั้ง ขึ้น ลง ก็จะเห็นภาพชัดเจน

ตรวจสอบหน้า การเล่าเรื่อง วิธีการคุยกับเด็ก จังหวะการเล่าเรื่อง
หาจุดบกพร่อง ตั้งคำถาม ตอบคำถามให้ได้
ปรับแก้ เช่น เล่มนี้ตัวละครที่คิดไว้แต่แรก ก็ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อความสนุก เหมาะสมให้มากที่สุด
ถ้าหนังสือเสร็จแล้วจะเอามาให้ดูอีกทีจ้ะ

ขอบคุณที่ติดตาม 
ขอให้สนุกกับการทำหนังสือภาพสำหรับเด็กจ้ะ

Popular Posts